Thursday, October 1, 2020

ถอดความ “ข่าวพาดหัว” หรือ headline ออกมาเป็นภาษาไทยอย่างไรดี

 1. Israel hardens position against Palestinians after attacks
Smarting from back-to-back attacks that killed 11 people, Israel went on high alert and hardened its position against the palestinians but acknowledged it could not completely protect itself.

ข้อแรกต้องเป็น อิสราเอลกร้าวต่อปาเลสไตน์หลังเหตุโจมตี อันนี้คำว่า harden ก็เป็นการสร้างคำขึ้นมาจาก hard ที่แปลว่าแข็ง เติม –en ก็แปลว่าทำให้แข็งขึ้น position นี่ก็แปลได้หลายอย่างมากครับ หมายถึง “ตำแหน่ง” “จุดยืน” อันที่จริง ตรงนี้ความหมายอาจเป็นไปได้ทั้งสองแง่ คือ หมายถึง อิสราเอล เสริมกำลังทหารตามที่มั่นทางทหารของตนก็ได้ หรือจุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้นก็ได้ แต่ดูดีๆ แล้วน่าจะหมายถึงจุดยืนทางการเมือง หรือท่าทีที่แข็งกร้าวมากกว่า

อ้อ จดไว้นิดนึงว่า back-to-back attacks ที่มีในข่าวนั้นเป็นสำนวนฝรั่ง อะไรที่ back-to-back หมายถึงเกิดขึ้นติดต่อกัน เกิดติด ๆ กัน คำว่า attack ก็คือการโจมตี ดังนั้นก็คือการโจมตีอย่างต่อเนื่องนั่นเอง จำไว้ได้ประโยชน์ครับ เอา back-to-back นำไว้ + noun ที่จะขยาย เท่านี้ก็ได้แล้ว

กลัวใช้ผิดเหรอ ? ไม่ต้องไปกลัวหรอกครับ ผมเองยังใช้ผิดบ่อย ๆ เลย ไม่ใช่ภาษาเรานี่หว่า อีกอย่างนะเวลาคุณผิดอะไร จะจำได้ดีกว่า คราวหลังก็ไม่ผิดแล้ว ใช่มะ !


2. Schroeder fires scandal-prone defense minister Scharping
- German Chancellor Gerhard Schroeder fires his scandal-prone Defense Minister Rudolph Scharping following election-year allegations he accepted fees from a public ralation firm.

ข้อนี้ต้องเป็น Schroeder สั่งฟันรัฐมนตรีขี้ฉ้อ Scharping

คำว่า scandal-prone ก็คือ มีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์อื้อฉาว หรือเกิดเหตุการณ์อื้อฉาวขึ้นบ่อย ๆ ( scandal คือเหตุการณ์อื้อฉาวประเภทสร้างความเสื่อมเสียแก่เจ้าตัว) ส่วน verb คำว่า fire นี่ต้องจำไว้ให้ดี ถ้าเป็นคำนามมันคือ ไฟ กองไฟ แต่ถ้าเป็นคำกริยา มักใช้กันมากสองอย่าง อย่างแรกคือ “สั่งยิงปืน” อย่างที่สองคือ “ไล่ใครซักคนออกจากงาน” จดไว้เถอะครับ มือใหม่กุมขมับเพราะคำง่าย ๆ แบบนี้มานักต่อนักแล้ว

ในที่นี้ผมแปลมันหน่อยให้ได้อรรถรส ว่า สั่งฟันรัฐมนตรีขี้ฉ้อ ภาษามันลื่นไหลนี่ครับ เราต้องไหลตามมัน ของแบบนี้อย่าไปฝืน

อ้อ…แถมนิดว่า German Chancellor ก็คือนายกรัฐมนตรีเยอรมันนั่นเอง ไม่รู้สิประเทศเขาเรียกแบบนี้ ใช้แบบนี้ เราก็ใช้ตามไปเถอะ


3.Spain does not want tense relations with Morrocco: Aznar
-Prime Minister Jose Maria Aznar said that Spain is not seeking to ferment tensions with Morocco but he reiterated that he will not accept Rabat's military presence on a disputed island.

อันนี้ต้อง Aznar เผย สเปนไม่อยากให้สัมพันธ์กับโมร็อกโคตึงเครียด เวลาอ่านเจอแบบนี้ สังเกตุว่า พาดหัวข่าวจะไม่เคร่งไวยกรณ์ หรือลำดับประโยคมากนัก ก็เลยเอา คนพูดมาไว้ข้างหลัง แต่ธรรมชาติภาษาไทยเราทำแบบนี้มันเข้าใจลำบากครับ ต้องหยิบกลับมาไว้ข้างหน้า ใครเผย ชวนเผย ชวลิตชี้ สมศักดิ์โว ก็ว่าไปตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องครับ

ข่าวนี้ลีลาการเขียนน่าดูชม ferment แปลว่าหมักดอง หมักเหล้า หมักไวน์ หมักผลไม้ดอง พอมาใช้กับ tension ที่หมายถึงความเครียด การตึงเครียด ก็น่าจะหมายถึง ไม่อยากสั่งสมสถานการณ์ตึงเครียด บ่มเพาะสถานการณ์เครียด เซนส์แบบอึมครึม บรรยากาศมาคุ (ไม่รู้เข้าใจคำนี้หรือเปล่า 5555) อะไรแบบนั้น แปลไทยก็คงลำบาก เข้าใจเป็นเซนส์ภาษาอังกฤษดีกว่า

มีอีกคำคือ military presence เป็นสำนวนภาษาอังกฤษ หมายถึง มีกำลังทหาร อยู่ในสถานที่ใด สถานที่หนึ่ง ปรากฎว่ามีกำลังทหารอยู่ที่นั่น อะไรแบบนั้น อย่างเช่นตอนนี้อเมริกามี military presence อยู่ในอัฟกานิสถาน เป็นต้น

No comments: